วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

พลังงานที่มากระแทกร่างกายแล้วไปไหน ( ตอน 7.4 )

พลังงานที่มากระแทกร่างกายแล้วไปไหน ( ตอน 7.4 )

จุกเสียดลิ้นปี่ กรดไหลย้อน
เมื่อใดก็ตามที่เราใช้ชีวิตประจำวันด้วยการเดิน การยืน การกระโดด หรือแม้แต่การนั่งขับรถมีการเหยียบเบรก เหยียบคลัช พลังงานเข้าสู่ร่างกาย เริ่มจากฝ่าเท้า ส้นเท้า เอ็นร้อยหวาย น่อง ขาท่อนบน แก้มก้น ก้นกบ แนวเส้นขนานติดกระดูกสันหลัง ในช่องท้อง แนวบ่า แนวต้นคอ และไปสิ้นสุดที่บนศีรษะ
ในสภาวะปกติ ทุกๆก้าว ทุกๆการกระทำ พลังงานที่สะเทือนเข้ามาในร่างกาย จะค่อยๆสั่งสมเพิ่มเติมขึ้นมา เริ่มจากฝ่าเท้า แล้วค่อยๆแน่นไปตลอดแนวจนถึงบนศีรษะ ถ้าพลังงานสั่งสมมาถึงช่องท้องเมื่อไร ให้เราคิดตามนะครับ
รอบๆสะดือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นประธานสิบ เป็นเส้นหลักๆที่สำคัญ ลากผ่านไปตามกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออวัยวะ ต่างๆทั่วร่างกาย
จากความหมายของการนวดเส้น คือการนวดเส้นที่มีเลือดและลมแล่นอยู่ ดังนั้นแนวเส้นประธานสิบ แนวรอบๆสะดือ จึงเป็นจุดศูนย์กลาง เป็นจุดเริ่มต้นของการไหลแล่นผ่านของลม เพื่อไปตามแนวเส้นหลักๆทั้งสิบเส้น ในระหว่างทางถ้าลมขัดที่ใดไม่สามารถแล่นผ่านไปยังอวัยวะปลายทางของเส้นนั้นๆได้ พลังงานที่ซึมซับเข้ามาทุกวันๆ ไม่มีการเคลื่อนไหว แล้วพลังงานเมื่อเข้ามาแล้วออกนอกกายไม่ได้ จะทำให้เกิดอะไรกับอวัยวะของเรา
ในช่องท้องเรา เรามองลงไป มีอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่บริเวณทรวงอกถึงท้องน้อย เช่น หัวใจ ตับ ไต ปอด กระเพาะอาหาร แนวสะดือก็จะมีลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ บริเวณท้องน้อยก็จะเป็นกระเพาะปัสสาวะ อวัยวะสืบพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิง
กรณีของกระเพาะอาหาร เป็นอวัยวะอย่างหนึ่งที่อยู่ในช่องท้อง กระเพาะอาหารก็จะมีการบีบรัดตัว เป็นพลังงานกล ทำให้อาหารและน้ำย่อยที่หลั่งลงมาคลุกเคล้ากัน เป็นตัวช่วยในระบบการย่อยอาหาร
เมื่อลมแน่นในช่องท้อง ( ไม่ใช่แก๊สในกระเพาะอาหาร ) นั่นหมายถึงการไหลเวียนของลมตามแนวเส้นที่ผ่านมาถึงช่องท้อง ลมไม่สามารถเคลื่อนออกไปได้ ย่อมมีผลต่อพลังงานที่เรารับมาทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะมาจากด้านบนลำตัว คืออาการปวดเมื่อยคอบ่าไหล่ ซึ่งบางคนจะมีอาการเรอบ่อยๆ อาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทขา แต่อาการหลักๆที่ทำให้ลมในท้องขัด แน่นขึ้น ไหลเวียนไม่ได้ จะมาจากการที่เรายืน เดิน กระโดดมาก เป็นอาการที่สะสมมาเรื่อยๆ เกิดจากความตึงของกล้ามเนื้อ แนวเส้นจากฝ่าเท้า น่อง ขึ้นมา
เมื่อลมไม่เคลื่อนอัดแน่นอยู่ในช่องท้อง กระเพาะอาหารเราก็จะโดนลม หรือพลังงานที่ล้อมรอบนั้นกดทับ บีบ ทำให้การขยับ บีบรัดตัวของกระเพาะอาหารเสียสภาพไป กระเพาะอาหารหดตัวแล้วคลายตัวออกมาไม่ได้ เหมือนกับมีมือมาบีบ จึงทำให้กระเพาะอาหารมีเสียสภาพไป คือขนาดเล็กลง
เมื่อหดตัวแล้วขยายตัวไม่ขึ้น พลังงานกลเสียไป อาหารกับน้ำย่อยก็คลุกเคล้ากันได้น้อยลง เราจึงมีอาการกินแล้วไม่ย่อย ท้องอืดเฟ้อ เมื่อไม่หิวเราก็ไม่กิน กินไม่ตรงเวลา จึงทำให้เป็นโรคกระเพาะในเวลาต่อมา
เมื่อมีลมแน่นอยู่ในช่องท้อง ลมหรือพลังงานที่แน่นอยู่ทำให้กระเพาะมีขนาดเล็กกว่าปกติ เมื่อน้ำย่อยหลั่งลงมาในกระเพาะ ระดับของน้ำย่อยจึงสูงกว่าปกติในระดับหนึ่ง มีผลให้ความเป็นกรดของน้ำย่อย มีการระเหยขึ้นมาถึงบริเวณลำคอ เราจึงมีความรู้สึกว่าไม่ว่าเราจะยืน จะนั่ง จะนอนก็ตาม เมื่อเรอออกมาที่ลำคอจะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวเหมือนน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นลำคอ
เมื่อเรากดนวด แนวขาท่อนบนในท่านอนคว่ำ จะทำให้ลมในแนวเส้นไหลออกไปถึงปลายเท้า เมื่อลมในแนวขามีความดันลมหรือพลังงานน้อยลง ลมหรือพลังงานที่แน่นอยู่ในช่องท้องก็จะแพร่ ไหลลงมาตามแนวเส้นผ่านออกมาทางขา วิ่งออกปลายนิ้วเท้า
เมื่อลมในช่องท้องคลายตัวลง อาการลมแน่นท้องก็คลายตัวลง กระเพาะอาหารก็กลับมาหดและขยายตัวได้เป็นปกติ เมื่อนั้นอาการกรดไหลย้อนก็หายไปเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น