วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

ลมกับพลังงาน ( ตอน 8 )

ลมกับพลังงาน ( ตอน 8 )
อาการเส้นตึงทั้งซีก

            อาการป่วยเรื้อรัง อาการที่รักษาไม่ได้ของคนเรา ส่วนมากเป็นการป่วยที่เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุลมในร่างกาย ผู้ป่วยหลายคนรับรู้ด้วยตัวเองว่า มีลมแน่นอยู่ในช่องท้อง มีลมวิ่งป่วนอยู่ในร่างกาย หลายคนมีอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ บางคนมีอาการหายใจลำบาก กลืนน้ำลายไม่ลง มีอาการเหนื่อยแปลบที่หัวใจ ในขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจปกติไม่มีปัญหา

     ผู้ป่วยหลายคนถ้าเขาเรอออกมาได้ อาการแน่น เมื่อยล้าบริเวณคอบ่าไหล่ก็จะเบาลง
    ถ้าเขาสามารถผายลมออกมาได้ ช่องท้อง ก็จะอึดอัดน้อยลง
     เวลาเดินถ้ามีเสียงลั่นที่ข้อเข่า-ข้อเท้า แนวขาเราก็จะเบาขึ้น

       ที่บอกกล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของอาการที่เกิดจากการขัดของธาตุลมในร่างกาย ยังมีอีกหลายๆอาการที่เริ่มต้นก็เกิดมาจากปัญหาที่ลมไม่สามารถไหลออกนอกร่างกายได้ ทำให้พลังงานจากภายนอกที่เคยกระทบ และเก็บสั่งสมอยู่ภายในแนวเส้น
     พลังงานเหล่านี้เข้ามาในกายแล้ว แต่พลังงานไม่สามารถเคลื่อนไหลออกไปจากร่างกายเราได้ ยังคงเก็บสั่งสมพลังงานนั้นๆไว้ในแนวเส้น แล้วค่อยๆแผ่พลังงานนั้นไปเก็บที่บริเวณรอบๆแนวเส้นที่พลังงานเคลื่อนเข้ามา ค่อยๆสะสม พอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเดือน เป็นปี

     พลังงานถ้าหากทยอยเข้ามาในร่างกาย เราจะไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุแรงๆ มากระแทกร่างกายเรา ครั้งเดียวจากการกระแทก พลังงานที่สะเทือนเข้าร่างกายเรามาก มากจนบางครั้งทำให้เราเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมาทันที

      ทุกๆอิริยาบทของเรา ทุกๆการก้าวเดิน มีพลังงานเบาๆสะท้อนเข้ามาในร่างกายที่ฝ่าเท้า พลังงานสะเทือนขึ้นมาแค่ข้อเท้า
     ถ้าเรากระโดดลงมาจากต้นไม้ เราอาจจะปวดตึงขึ้นมาถึงแนวหลัง หรือศรีษะ
     ทุกๆการก้าวเดิน มีพลังงานเบาๆสะท้อนเข้ามาในร่างกายที่ฝ่าเท้า พลังงานสะเทือนขึ้นมาแค่ข้อเท้า
    แต่ถ้าเราขาพลิก-ขาแพลง พลังงานจะเข้ามาที่ข้อเท้า ตึงขึ้นมาที่แนวหน้าแข้ง 1,2,3 ขึ้นมาที่แนวหน้าขา แนวข้างขาด้านนอก ตึงขึ้นสีข้าง ใต้รักแร้ ขึ้นไปถึงศรีษะ
     ถ้าเราเครียด พลังงานก็ค่อยๆเคลื่อนไหลลงมาจากศรีษะ ลงมาที่ท้ายทอย เส้นคอ ลงมาสั่งสมที่บ่า-สะบัก
      แต่ถ้าเราเกิดอุบัติเหตุศรีษะกระแทกของแข็ง พลังงานที่เข้ามาอาจจะเคลื่อนไหลผ่านลงมาถึงแนวหลัง-เอว กระเบนเหน็บ แนวข้างขาด้านใน แนวหน้าแข้งด้านใน ตาตุ่มใน สุดท้ายลงมาถึงฝ่าเท้าแนวร่องนิ้วโป้งและนิ้วชี้
     ถ้าเราใช้แขนทำงาน พลังงานก็จะสะเทือนเข้ามาที่ข้อมือ แขนท่อนล่าง รักแร้ สะบัก
    แต่ถ้าเราหกล้มเอามือยันพื้น พลังงานก็จะเคลื่อนผ่านไปแนวนิ้วก้อยจนถึงโคนแขน ผ่านไปที่สะบัก แนวเส้นระหว่างสะบักกับกระดูกสันหลัง
    ถ้าแขนเรามีการกระชาก พลังงานก็จะเคลื่อนผ่านไปแนวนิ้วโป้ง จนถึงโคนแขน ผ่านไปที่แนวไหปลาร้า ผ่านไปถึงแนวหน้าอก บริเวณเต้านม ผ่านไปถึงแนวลิ้นปี่

         พลังงานที่เคลื่อนไหลเข้ามาในร่างกายเรา จะขยับเคลื่อนไปกับการไหลของลมในกาย พลังงานเข้ามาทีละน้อย ร่างกายเราก็จะไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดจากการที่ร่างกายเราหักโหมงานเกินไป เช่น ยกของที่หนักเกิน กระโดดสูงเกิน พลังงานก็จะเข้ามาในร่างกายมากขึ้น เพิ่มขึ้นทุกๆวัน จนถึงจุดที่ร่างกายเรารับพลังงานไม่ไหว เหมือนเขื่อนที่รับน้ำใกล้จะเต็มแล้ว

        กลไกเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย ร่างกายจะค่อยๆคลายพลังงานเหล่านี้ออกมา ด้วยการหาว การจาม การไอ การเรอ การผายลม เพื่อไม่ให้พลังงานภายในร่างกายเราอึดอัดแน่นจนเกินไป
       เมื่อมีการเรอ การผายลมออกมาแล้ว ความกดดัน ความดันของลมหรือพลังงานในร่างกายเราลดลง ร่างกายเราก็จะสบายขึ้น
       พลังงานเมื่อเคลื่อนไหลเข้ามาตามแนวเส้น ลมจะนำพาพลังงานที่สะเทือนเข้ามานี้ให้ไหลเข้าไป ไหลไปตามแนวเส้น จากบนศรีษะเคลื่อนไปปลายเท้า จากปลายเท้าเคลื่อนขึ้นไปถึงศรีษะ เมื่อพลังงานเข้าไปแล้วออกไม่ได้ ก็เกิดการสั่งสมที่แนวเส้น ทับถม พอกพูนเพิ่มขึ้นมา
     
  พลังงานเมื่อขัดอยู่ที่แนวเส้น ทำให้เส้นบวมพองขึ้นมามากกว่าปกติ (เหมือนกรณีเส้นคอจะบวมพองขึ้นมา เมื่อเรามีอาการไมเกรน คอตกหมอน ) วันเวลาผ่านไป ถ้าเรายังไม่ได้บำบัดทำให้ลมเคลื่อนออกนอกร่างกาย พลังงานก็ยังคงคั่งค้างอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะที่แนวเส้น ตามแนวกล้ามเนื้อต่างๆ ตามช่องว่างต่างๆในร่างกาย
       วันใดที่เราเกิดอุบัติเหตุ ล้มกระแทก หรือรถชนกระแทกเข้ามาที่ร่างกายเรา มีพลังงานจำนวนมากวิ่งเข้ามาในแนวเส้นเราที่มีอาการตึงอยู่แล้ว อุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้เรามีความรู้สึกตึงแนวเส้นทั้งซีก ตึงทั้งลำตัวที่โดนกระแทก ตั้งแต่ปลายเท้า ปลายมือ ตึงไปจนถึงศรีษะ
       ที่เป็นเช่นนี้เพราะพลังงานเดิมๆที่สั่งสมไว้มีมากอยู่แล้ว และเราก็ยังไม่ได้นำออกไป เมื่อมีอุบัติเหตุ มีการรับพลังงานจำนวนมากเติมเข้ามาอีก ทำให้แนวเส้นเมื่อรับพลังงานใหม่เข้ามา พลังงานก็เคลื่อนแผ่กระจายไปตามแนวเส้น ทำให้แนวเส้นบวมพองเพิ่มขึ้นมาอีก ความดันของพลังงานที่อยู่ในแนวเส้นก็เพิ่มเติมขึ้นมาก ตลอดแนวตั้งแต่เท้า แขน จนไปถึงศรีษะ จนทำให้มีอาการตึงแข็งในซีกนั้นขยับเขยื้อนลำบาก
       ส่วนอีกซีกหนึ่งที่ไม่โดนพลังงานกระแทกเข้ามา สภาพร่างกายยังปกติอยู่ ทำให้ร่างกายทั้งสองซีกมีอาการตึง หนักของแนวเส้นไม่เท่ากัน

                                        26 กันยายน 2561

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

ลมกับพลังงาน ( ตอน 7 )

ลมกับพลังงาน ( ตอน 7 )
การบำบัดอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทขา

         ในขณะที่เรากดนวดตามแนวเส้น อย่าง เนิบๆ ช้าๆ การกดนวดนั้นจะสามารถทำให้ลมในแนวเส้น เคลื่อนไหลออกนอกร่างกายได้ ออกตามข้อกระดูก ออกตามทวาร ออกตามรูขุมขนต่างๆที่แนวเส้นนั้นลากผ่าน
         เมื่อภายในร่างกายลมไหลเวียนดี ลมก็จะนำพาพลังงานที่เคยซึมซับเข้ามาในร่างกาย ให้เคลื่อนไหลออกไปกับลมที่ไหลออกนอกกายได้
          เคยสังเกตุไหมว่า เวลาที่เราปวดศรีษะ ไมเกรน เส้นคอข้างที่มีอาการไมเกรนจะบวมขึ้นมา แต่อีกข้างที่ไม่ปวดเส้นคอจะปกติ การที่เส้นคอเราบวมขึ้นมา ก็เนื่องจากการที่แนวเส้นคอ มีปัญหา ลมในแนวเส้นไม่สามารถลากพลังงานที่สั่งสมเข้ามาให้ไหลออกนอกร่างกายไปได้ จึงทำให้แนวเส้นคอนั้นมีพลังงานที่สั่งสมอยู่มาก จึงบวมพองขึ้นมา    ( เหมือนสายดับเพลิงที่เปิดน้ำ ให้ไหลเข้ามาในสาย สายดับเพลิงก็จะตึง แข็ง หนักขึ้นมาทันที ) พลังงานที่อยู่ในแนวเส้นนี้ก็เช่นเดียวกัน

            อาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทขา เป็นอาการของลมทีขัดในแนวเส้น เริ่มมาจากส่วนบนของร่างกาย พลังงานเข้ามาจากส่วนบนของร่างกาย จากท่อนบนลงมาท่อนล่าง มาจากอาการคอบ่าไหล่ ความเครียด นอนไม่พอ อุบัติเหตุที่กระแทกเข้ามาที่ศรีษะ ไหล่ แขน มือ เช่นการทำอาหาร ทำงานบ้าน เล่นกีฬา การวิ่ง การเต้น ยกของหนัก การขับรถ ทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ การพูดโทรศัพท์นานๆต่อเนื่องกัน ฯลฯ   
           ทุกๆอิริยาบทของการใช้ชีวิตประจำวัน ทุกๆการกระทำของเรามีพลังงานสะเทือนเข้ามาในกายเรา เพียงแต่ว่าพลังงานนี้เมื่อเข้ามาแล้วเคลื่อนออกไปไม่ได้ สั่งสมต่อเนื่อง จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี เป็นหลายๆปี พลังงานที่เข้ามาจากด้านบนร่างกายนี้ จะค่อยๆเคลื่อนไหลมารวมกันที่แนวสะบัก เคลื่อนลงมาตามแนวหลังใต้แนวสะบัก ตัดขวางเข้าเอว ไปที่แนวกระดูกสันหลังเอว พลังงานเคลื่อนผ่านแนวกระเบนเหน็บ ขาหนีบ แนวเส้นข้างขาด้านใน แนวหน้าแข้งด้านใน ฝ่าเท้าแนวร่องระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ นี่คือ 1รอบ ที่พลังงานเคลื่อนไหลลงมาด้านล่าง
         เมื่อพลังงานเคลื่อนลงมาถึงกระดูกสันหลังเอว พลังงานที่อยู่ในแนวเส้น ก็จะทำให้เส้นเลือดนั้นบวม พอง ใหญ่ขึ้นมา ( เหมือนกับเส้นคอ เมื่อเกิดอาการไมเกรน เส้นคอก็จะบวม พอง ใหญ่ขึ้น ) แนวเส้นที่บวมใหญ่ขึ้นมาก็จะไปดันหมอนรองกระดูกเอว ( เป็นเนื้อเยื่อนิ่มๆ) ให้เคลื่อนออกจากแนวกระดูกสันหลังเอว แล้วหมอนรองกระดูกนี้ก็จะไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลังที่ไปที่ขา จึงทำให้มีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทขา ลักษณะอาการแบ่งเป็น 2ส่วนคือ
   1. อาการที่พลังงานคั่งค้างอยู่ตามแนวเส้น ก็จะเริ่มจากแนวกระดูกสันหลังเอว ผ่านไปกระเบนเหน็บ เส้นข้างขาด้านใน แนวเส้นหน้าแข้งด้านใน แนวเส้นฝ่าเท้าแนวร่องระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ เรากดนวดที่แนวเส้นนี้ เป็นการกดนวดเพื่อให้ลมและพลังงานคลายออกนอกร่างกาย
    2. อาการที่เกิดจากแนวกระดูกสันหลังเอว เส้นประสาทไขสันหลังที่ลากลงไปที่ขา โดนกดทับ ทำให้มีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทขา จะมีอาการขัด อาการปวดร้าว หรืออาจมีอาการไฟช็อตลงมาที่สะโพก สลักเพชร ข้อพับเข่าด้านนอก แนวตาตุ่มด้านนอก แนวหลังเท้าบริเวณร่องนิ้วนางกับนิ้วก้อย
      อาการนี้เป็นอาการที่เส้นประสาทขาถูกกดทับ เราจะไม่กดนวดบริเวณที่มีอาการนี้ เพราะถ้าเรากดนวดแนวบริเวณนี้ จะทำให้เส้นประสาทขาช้ำและบาดเจ็บได้ เมื่อเรากดนวดที่แนวเส้นข้างขาด้านใน ( ท่านอนตะแคง ) ลมและพลังงานจะเคลื่อนไหลลงไปออกที่ข้อหัวเข่า ข้อตาตุ่ม ข้อนิ้วเท้า และตามรูขุมขนแนวขาที่กระทุ้งจนเปิดแล้ว พลังงานที่ทำให้แนวเส้นที่กระดูกสันหลังเอวบวมโต ก็จะคลายออก แนวเส้นยุบตัวลง แรงดันที่ไปดันหมอนรองกระดูกให้เคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทขาก็น้อยลงไปเรื่อยๆ อาการกดทับที่ไปปรากฎที่แนวเส้นประสาทขาก็จะค่อยๆทุเลาลงไป จนหายเป็นปกติ

จึงเป็นที่มาของการบำบัดอาการด้วยท่านอนตะแคง นวดแนวเส้นข้างขาด้านใน อาการขัดของสะโพก สลักเพชร หายได้โดยไม่ต้องกดนวดที่สะโพกสลักเพชร

                                                                                                           19 กันยายน 2561

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

ลมกับพลังงาน ( ตอน 6 )

ลมกับพลังงาน ( ตอน 6 )
การแพร่ การเคลื่อนไหลของพลังงานลม

            การนวดไล่ลม จริงๆแล้วผมอยากจะทำความเข้าใจในลักษณะ ในวิธีการของการบำบัดว่า เป็นการนวดที่เน้น ทำให้ลมในร่างกายมีการเคลื่อนไหล และการเคลื่อนไหลนั้น ไม่ใช่แค่เป็นการทำให้ลมเคลื่อนจากจุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย ให้ย้ายไปอยู่อีกจุดหนึ่งของร่างกาย แต่เป็นการเคลื่อนไหลของลมให้ไหลออกนอกร่างกายเรา ตามข้อกระดูกต่างๆ และตามรูขุมขนทั่วร่างกาย
             การนวดไล่ลม เป็นการนวดที่ทำให้ลมในร่างกาย ไปลาก ไปนำพาพลังงานอื่นๆที่เคยปะทะ ซึมซับ และสั่งสมเก็บไว้ในร่างกาย เมื่อลมเคลื่อนไหลออกนอกร่างกายได้ ลมก็จะนำพาพลังงานเหล่านี้ออกไปด้วย

              ลมก็เป็นพลังงานชนิดหนึ่ง ลมไหลเวียนอยู่ภายในแนวเส้น และกระจายอยู่ไปทั่วในร่างกายเรา ลมก็จะเคลื่อนที่ตามแนวเส้นจากที่ๆมีความหนาแน่นมากไปยังที่ๆลมมีความหนาแน่นน้อย เมื่อเรากดนวด กระทุ้งที่แนวเส้น ให้ไปดันลมในแนวเส้น ให้ไหลไปออกตามแนวรูขุมขน พลังงานลมก็จะเคลื่อนไหลออกไปนอกร่างกาย
           เมื่อลมไหลออกนอกร่างกาย ทำให้เกิดความต่างศักย์ของพลังงาน จึงเกิดการเหนี่ยวนำพลังงาน เกิดการแพร่ของพลังงานลมในแนวเส้น จากจุดหรือบริเวณที่มีความหนาแน่นมากกว่า ให้เคลื่อนไหลไปตามแนวเส้น ตามลมที่เคลื่อนไหลอยู่ ไปออกตามข้อกระดูก ออกที่ทวาร ออกที่รูขุมขนตามแนวเส้น
              การแพร่ของพลังงานลมในแนวเส้น จึงเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายความว่า ทำไมเมื่อเรากดนวดไล่ลม ในแนวเส้นข้างขาด้านใน ( ท่านอนตะแคง ) เมื่อเรากดนวดแล้วลมไหลร้อนออกที่หัวเข่า ข้อเท้า วิ่งออกปลายขา วิ่งร้อนออกตามรูขุมขนตามแนวเส้น  ผลที่ได้คือลมและพลังงานที่แน่นอยู่ในแนวเส้นนี้ตั้งแต่ศรีษะ แขน แนวบ่า สะบัก แนวหลังใต้แนวสะบัก แนวหลังใต้แนวสะบัก แนวกระดูกสันหลังเอว ลมและพลังงานในแนวเส้นที่อยู่ส่วนด้านบนร่างกายนี้ ก็จะเคลื่อนไหลลงมาที่แนวเส้นที่เรากดนวดอยู่ แล้วเคลื่อนไหลออก ไปตามข้อกระดูกและรูขุมขนที่ลมได้เคลื่อนไหลร้อนออกไปแล้ว ลมและพลังงานที่สั่งสมที่แนวด้านบนของร่างกายก็ค่อยๆคลายตัวลง

แล้วการแพร่ของพลังงาน ช่วยบำบัดอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทขา ได้อย่างไร
                                                     
                                    16 กันยายน 2561

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2561

ลมกับพลังงาน ( ตอน 5 )

ลมกับพลังงาน ( ตอน 5 )
การกดนวดให้ลมเคลื่อนออกนอกร่างกาย

      ในสภาวะปกติ รูขุมขนทั่วร่างกาย เป็นที่ๆลมและพลังงานที่เคยกระทบเข้ามาในร่างกาย สามารถเคลื่อนไหลออกนอกร่างกายได้

      เมื่อใดที่ร่างกายเราเกิดอาการลมขัด รูขุมขนใต้ผิวหนังบริเวณแนวเส้นจะปิด ทำให้ลมไหลเวียนออกนอกร่างกายไม่ได้ ก็จะทำให้เรามีสภาพเหมือนลูกโป่งที่เป่าโตเต็มใบ ผิวกายคนเราจะต่างกับลูกโป่งตรงที่ผิวกายเรามีความยืดหยุ่นมาก ลมยิ่งขัดมากเท่าไร ก็จะส่งผลกระทบย้อนกลับมาที่กล้ามเนื้อ ที่อวัยวะในร่างกายเรามากเท่านั้น

      ในสภาวะที่รูขุมขนเราไม่เปิด แนวเส้นบริเวณท่อนกระดูก เป็นบริเวณที่ลมและพลังงานไม่สามารถเคลื่อนออกนอกร่างกายได้ ก็จะมีเพียงข้อกระดูก ที่เชื่อมระหว่างท่อนกระดูกเท่านั้น ที่ลมเคลื่อนไหลออกมาได้
      การที่เรากดนวดที่แนวเส้นท่อนกระดูก จะเกิดแรงไปกระตุ้น กระทุ้งให้ลมที่ขัดอยู่ที่แนวเส้นบริเวณท่อนกระดูก ให้ไหลไปออกตามแนวเส้นที่ข้อกระดูก ที่ปลายมือ ปลายเท้า ไปออกที่ทวารต่างๆ และให้ไปออกที่รูขุมขนบริเวณแนวเส้นที่กดนวด
       จากจุดที่กดนวด เมื่อลมเคลื่อนไหลออกที่ข้อ ออกที่รูขุมขนได้ ความหนาแน่นของลมและพลังงานบริเวณนั้นลดลง ทำให้ลมหรือพลังงานที่อยู่ในแนวด้านลำตัว จะไหลลงมาแทนที่ และไหลออกนอกกายไป

 จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเกิดการแพร่ของพลังงาน                                                           

                       07 กันยายน 2561

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561

ลมกับพลังงาน ( ตอน 4 )

ลมกับพลังงาน ( ตอน 4 )
นวดอย่างไร ทำให้ลมเคลื่อนไหลออกจากกาย

            ก่อนจะพูดถึงวิธีการที่จะนวดทำให้ลมเคลื่อนไหลออกนอกร่างกาย ต้องพูดถึงองค์ประกอบโดยรวมเกี่ยวกับลม และพลังงานที่ซึมซับเข้ามาในร่างกายเราก่อน เพราะถ้าเราไม่เข้าใจทิศทาง เส้นทาง ที่ลมจะเคลื่อนในร่างกายเรา เราจะไม่สามารถบำบัดอาการลมขัดในร่างกายได้ 
         การไหลเวียนของลมในร่างกาย มิใช่แค่ ลมไหลเวียนเปลี่ยนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่จะต้องเคลื่อนไหลเข้าและออกนอกร่างกาย ได้เป็นปกติ
        การไอ จาม หาว เรอ สะอึก อาการลมออกหู การผายลม การถ่ายอุจจาระที่มีลมออกมาด้วย การปัสสาวะที่มีลมออกมาที่ช่องคลอดด้วย  ก็เป็นการคลายออกของลมในร่างกายให้ออกมาตามทวารต่างๆ 
          อาการมีเสียงดังที่ข้อเข่า ข้อมือ หัวไหล่ กระดูกสันหลัง ก็เป็นอาการที่ลมเคลื่อนออกมาตามข้อกระดูกต่างๆ
          อาการขนลุก อาการร้อนวูบวาบก็เป็นการเคลื่อนออกตามรูขุมขนทั่วร่างกาย
           
            การนวดเส้น คือการนวดเส้นที่มีเลือดและลมแล่นอยู่ ดังนั้นลมที่แล่นอยู่ในแนวเส้นก็คือ ลมแล่นอยู่ตามเส้นเลือดต่างๆทั่วร่างกาย
         เส้นเลือดของเรา ปลายจะเปิดก็ต่อเมื่อเข้าไปถึงอวัยวะ ระหว่างข้อกระดูกต่างๆ เส้นเลือดก็จะไม่ขาดช่วง จะลากผ่านตามแนว จากท่อนกระดูกหนึ่ง ผ่านข้อกระดูก แล้วไปอีกท่อนกระดูกหนึ่ง     
        เลือดก็จะไหลผ่านจากท่อนกระดูกหนึ่งไปยังอีกท่อนกระดูกหนึ่ง 
        แต่ลมและพลังงานที่ไหลผ่านตามเส้น เมื่อไหลผ่านท่อนกระดูกหนึ่ง จะเคลื่อนไปออก ที่ข้อกระดูกที่เชื่อมกับท่อนกระดูกท่อนถัดไป ถ้าลมออกที่ข้อกระดูกนี้ได้ ก็จะเกิดเสียงขึ้นที่ข้อกระดูก เหมือนอาการข้อกระดูกเสื่อม
         ดังนั้นหลักการของการกดนวดไล่ลม จึงเป็นการกดนวดลงที่ท่อนกระดูก แรงกดที่ลงไปที่แนวเส้น จะไปกระทุ้งให้เลือดและลมไหลไปตามแนวเส้นได้โดยสะดวก โดยเฉพาะลมในเส้น ก็จะถูกกระทุ้งให้เคลื่อนออกจากแนวท่อนกระดูก ให้ลมเคลื่อนไหลไปออกที่ข้อกระดูก ออกที่ทวาร และออกที่รูขุมขนที่แนวเส้นลากผ่าน

  แล้วการนวดไล่ลมช่วยทำให้ลมที่ขัดอยู่ในแนวเส้น บริเวณท่อนกระดูก ให้ไหลออกนอกร่างกาย ได้อย่างไร

         
                  05 กันยายน 2561

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

ลมกับพลังงาน(ตอน3)

ลมกับพลังงาน ( ตอน3 )

           ” นวดไล่ลม “   เป็นส่วนหนึ่งของการนวดแผนไทย เป็นการนวดเพื่อปรับสมดุลของธาตุทั้งสี่ในร่างกายเรา โดยมุ่งหวังผล ปรับสมดุลที่ธาตุลมในร่างกายโดยตรง ทั้งนี้เพราะอาการเจ็บป่วยที่เรื้อรังต่างๆ เป็นเพราะเรายังไม่สามารถปรับการไหลเวียนของธาตุลมในร่างกายให้เป็นปกติ

        ความเข้าใจในปัจจุบัน คำว่าการไหลเวียนของเลือดลม เป็นการเข้าใจว่า การกดนวด การบำบัดต่างๆเป็นการทำให้เลือดลม ไหลเวียนดีขึ้น
        การกดนวดช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่แข็งตึง ให้นิ่ม ให้คลายความตึงลง
        การคลึงช่วยคลาย ช่วยสลายพังผืดที่เกาะอยู่ที่กล้ามเนื้อ  ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ อวัยวะต่างๆได้ดีขึ้น
         แต่การนวดบำบัดทั่วไป สำหรับธาตุลม เพียงแค่ทำให้ลมในร่างกาย ในแนวเส้น เคลื่อนหนีจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ลมในร่างกายยังคงคั่งค้างอยู่ภายใน ไม่เคลื่อนไหลออกนอกร่างกาย ลมจึงไม่สามารถนำพาพลังงานที่เคยกระทบเข้ามาในร่างกาย ให้เคลื่อนไหลออกนอกร่างกายเราไปได้ จึงเกิดการสั่งสมพลังงานนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
         เราทานอาหาร เราก็ต้องขับถ่ายอุจจาระออกมา
         เราทานน้ำ เราก็ต้องขับถ่ายปัสสาวะออกมา
         เราหายใจเข้าเอาก๊าซออกซิเจนเข้า เราก็ต้องหายใจออกเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา

         ดังนั้นการที่เราเคยซึมซับพลังงานจากภายนอกเข้ามา เราจำเป็นต้องคลายพลังงานเหล่านั้นออกมาด้วย

     การนวดไล่ลม เพียงแค่การกดนวดจะทำให้ลมไหลเวียนออกนอกร่างกาย ตามข้อกระดูกต่างๆ ตามรูขุมขนทั่วร่างกาย ทำให้พลังงานที่เคยสะเทือนเข้ามาในร่างกาย จะเคลื่อนไหลตามลมออกไปด้วย

            ถ้าพลังงานไม่เคลื่อนไหลออกนอกร่างกาย ก็จะเหมือนลูกโป่งที่เป่าจนมีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งโตมากก็ยิ่งแข็ง ความดันของลมในลูกโป่งก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มากจนผิวลูกโป่งรับไม่ไหว ลูกโป่งก็จะแตก
            ถ้าเราค่อยๆ ปล่อยลมในลูกโป่งให้ไหลออกทีละนิด จนขนาดลูกโป่งลดลงมาเหลือขนาดแค่ครึ่งใบ ความดันของลมภายในลูกโป่งจะลดลง ลูกโป่งก็จะนิ่มลงไม่ตึงแข็งเหมือนตอนแรก
           
การนวดเส้น คือการนวดเส้นที่มีเลือดและลมแล่นอยู่

      ดังนั้นการที่เรากดนวดแล้ว ลมไม่สามารถเคลื่อนไหลออกนอกร่างกาย พลังงานที่เคยซึมซับเข้ามา แล้วสั่งสมอยู่ภายใน พลังงานนั้นจะเคลื่อนไหลออกนอกร่างกายเราไม่ได้เช่นกัน พลังงานก็ยังคงสั่งสมต่อไป
      เคยสังเกตุไหมว่า เวลาที่เรามีอาการปวดศรีษะ ไมเกรน อาการคอตกหมอน เส้นคอเราจะบวม พองโตขึ้น เพราะลมและพลังงานที่อยู่ในแนวเส้นคอนี้ ไหลเวียนออกนอกร่างกายไม่ได้ ทำให้แนวเส้นนั้นโป่งพอง สภาพเหมือนลูกโป่งที่เป่าให้ขนาดโตขึ้น
       แต่อีกข้างที่ไม่มีอาการไมเกรน การไหลเวียนของลมและพลังงานที่แนวเส้นคอ ลมและพลังงานยังสามารถไหลเวียนออกนอกร่างกายได้ แนวเส้นก็จะปกติ ไม่บวมขึ้นมา
       ในแนวทางการนวดไล่ลมนั้น การกดนวดขาข้างใดข้างหนึ่ง เราสามารถเปิดทาง ทำให้ลมไหลเวียนออกนอกร่างกายตามรูขุมขนตลอดแนวเส้น ออกที่ปลายเท้า ปลายมือ และศรีษะได้ เพียงแค่อาศัยการแพร่ของพลังงาน หรือการแพร่ของลมในแนวเส้น ก้จะทำให้พลังงานที่สั่งสมอยู่ภายในร่างกายเรา เคลื่อนไหลออกนอกร่างกายเราได้

         แล้วเราจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ลมเคลื่อนไหลออกจากกาย

                                                  03 กันยายน 2561